วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน


บทบาทหน้าที่ของญาติ/ผู้ดูแลและครอบครัว

·         กระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองให้มากที่สุด เท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ เช่น การแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว หวี ผม รับประทานอาหารด้วยตนเอง การลุกนั่ง การขับถ่าย โดยญาติอาจคอยช่วยเหลือเป็นกรณีไป การกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นได้เร็ว ขึ้น ญาติ / ผู้ดูแลควรให้กำลังใจ และส่งเสริมผู้ป่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง

·         กระตุ้นผู้ป่วยไม่ให้ลืมร่างกายข้างที่อ่อนแรง โดย จัดวางอุปกรณ์ เครื่องใช้ไว้ข้างที่อ่อนแรง การพูดคุย ยื่นสิ่งของให้หรือการป้อนข้าวควรเข้าข้างที่อ่อนแรง

·         กระตุ้นการรับรู้ บุคคล วันเวลา สถานที่ และสังคมโดย จัดให้มีนาฬิกา ปฏิทิน รูปภาพ โทรทัศน์ ให้ผู้ป่วยดู ให้ญาติหรือผู้ดูแลช่วยบอกถาม พูดคุย หรือให้ผู้ป่วยพูดคุยกับลูกหลาน ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ หรือผู้คุ้นเคย

·         ครอบครัวให้ความรัก ความใส่ใจเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมต่างๆ ในครอบครัวเท่าที่ทำได้อย่างสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยนอนอยู่แต่บนเตียง เช่น พาผู้ป่วยไปเดินเล่น ออกกำลังกาย ออกนอกบ้านไปสถานที่ต่างๆ บางรายอาจต้องให้มีส่วนร่วมรับรู้ในกิจการงาน ตลอดจนสังคม สมาคม ที่เคยทำมาก่อนบ้างตามความเหมาะสม

·         ผู้ป่วยอาจมีความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ดูแลโดยเฉพาะสามีหรือภรรยา ควรทำความเข้าใจและปลอบโยนเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย

·         ควรมีการหมุนเวียนผู้ดูแล กรณีผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เนื่องจากต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน ถ้ามีปัญหาในการดูแลผู้ป่วย ควรปรึกษาทีมสุขภาพ หรือปรึกษาทางโทรศัพท์

·         มาพบแพทย์ตามนัด รับประทานยาตามแพทย์สั่งให้ถูกต้องและครบถ้วน หากมีอาการผิดปกติให้มาพบแพทย์ก่อนวันนัด เช่น แขน-ขาอ่อนแรง หรือชามากขึ้น ง่วงซึม สับสนมากขึ้น พูดไม่ได้ ไม่เข้าใจคำพูดมากขึ้น มีไข้ติดต่อกันเกิน 3 วัน ปัสสาวะบ่อยกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น

·         กรณีที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ให้ติดต่อสถานบริการใกล้บ้าน เช่นโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือศูนย์บริการสาธารณสุขตามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น